วันอังคารที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2555

วิญญาณ
                วิญญาณ เป็นนามธรรม 1 ใน 4 ที่อยู่ในเบญจขันธ์ หรือขันธ์ห้า ที่ประกอบด้วยรูปธรรม 1 ส่วน และนามธรรมอีก 4 ส่วน ได้แก่ รูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ
วิญญาณ หมายถึงจิตที่ทำหน้าที่รู้สึกที่ตา ที่หู ที่จมูก ที่ลิ้น และที่กายทั่วๆไป ตลอดจนถึงที่ใจของตนเองด้วย (ไม่ใช่เจตภูตอย่างที่คนส่วนมากเข้าใจกัน) (ที่มา : คู่มือมนุษย์ของพุทธทาสภิกขุ)
วิญญาณ การรับรู้ผ่านประสาทสัมผัสต่างๆ เช่น ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ การรับรู้ผ่านประสาทสัมผัสต่างๆตามขั้นตอนและความหมายที่สัมพันธ์ของขันธ์ห้า ได้แก่ รูป เวทนา สัญญา  สังขาร และวิญญาณ (ที่มา : อ้างใน การบริหารงาน บริหารใจ : ดร. วรภัทร ภู่เจริญ อ้างถึง อนัตตลักขณสูตร มหาวัคค์ วินัยปิฏก เล่มที่ 4 : รองศาสตรจารย์ดนัย ไชยโยธา พจนานุกรมพุทธศาสน์ สำนักพิมพ์ โอเดียนสโตร์ หน้า 34-36)
วิญญาณ ทำหน้าที่รู้แจ้งทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ มันเป็นสิ่งที่ไม่ใช่ตัวตนของเราเหมือนกัน เพราะเหตุว่าอวัยวะนั้นๆ ล้วนมีความสามารถรับรู้ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส อยู่ตลอดเวลา เมื่อตากับรูปถึงกันเข้า วิญญาณก็เกิดขึ้น เป็น 3 ฝ่ายด้วยกัน เช่น ตามีความรู้แจ้งเกิดขึ้นว่ารูปนั้น มีสัณฐานอย่างไร เป็นรูปคนหรือรูปสัตว์ สั้นหรือยาว ขาวหรือดำ เป็นต้น ความรู้แจ้งที่เกิดขึ้นทำนองนี้เหมือนกับกลไกอันหนึ่ง ซึ่งเป็นไปเองตามธรรมชาติอย่างอัตโนมัติ แต่มีคนบางพวกถือกันว่านั่นแหละเป็นเจตภูต หรือเป็นตัววิญญาณที่แล่นเข้าแล่นออกจากใจมารับความสัมผัสทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย อย่างนี้ก็มีแล้วยึดถือเอาเป็นตัวตน ตามหลักพุทธศาสนาถือว่ามันเป็นธรรมชาติอย่างนั้น ถ้ารูปและตาพร้อมทั้งประสาทตา ได้มีการกระทบกันก็จะมีการเห็นเกิดขึ้นสำเร็จ เป็นการรู้แจ้งทางตา เรียกว่า จักษุวิญญาณ ตามชื่อของประสาทอันเป็นที่ตั้งแห่งการสัมผัส โดยไม่ต้องมีตัวตนอะไรที่ไหนอีก วิญญาณในพระพุทธศาสนาจึงไม่เหมือนวิญญาณในศาสนาอื่นๆ (ที่มา : คู่มือมนุษย์ของพุทธทาสภิกขุ หน้า 73-74)